World Immunization week by WHO: 24 – 30 April 2022
ทราบมั้ยคะว่า ทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปีนั้น WHO ได้กำหนดให้เป็น World Immunization week ค่ะ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของวัคซีนที่ช่วยป้องกันผู้คนทั่วโลกจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อต่างๆมากมาย ซึ่งสำหรับปีนี้ World Immunization week จะตรงกับช่วงวันที่ 24-30 เมษายน ในธีม “Long Life for All” ค่ะ ซึ่งมีแนวความคิดว่า การได้รับวัคซีนจะช่วยให้ผู้คนสามารถทำตามความฝัน ปกป้องคนที่รัก และมีชีวิตยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีค่ะ
บริษัท ไบโอวาลิส จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำทางด้านวัคซีน ที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ World Immunization week นี้ เพื่อให้ทุกๆท่านได้รับรู้เรื่องราวจุดเริ่มต้น การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความสำคัญของวัคซีนต่างๆมากขึ้นนะคะ
วัคซีนเริ่มมีการพัฒนาครั้งแรกในราวคริสต์ทศวรรษที่ 1770 โดย Edward Jenner นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งประสบความสำเร็จในการสกัดเชื้อหนองฝีวัว (cowpox) มาใช้ปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษ (smallpox) ในมนุษย์ โดยวิธีการนี้สามารถป้องกันไข้ทรพิษได้จริงและขยายวงของการยอมรับออกไปเรื่อยๆจนวิธีการของ Edward Jenner ก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป Edward Jenner ได้เรียกชื่อหนองฝีวัวนั้นว่า vaccine ซึ่งเป็นคําที่มาจากภาษาลาตินว่า vacca ซึ่งแปลว่าวัว และเรียกวิธีการป้องกันโรค ดังกล่าวว่า vaccination ซึ่งกลายเป็นคําที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มาจนถึงปัจจุบันนั่นเองค่ะ
โรคพิษสุนัขบ้านั้นมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี จวบจนปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังเป็นโรคที่น่าหวาดกลัว เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วต้องเสียชีวิตโดยที่ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ วัคซีนจึงยังคงเป็นวิธีการเดียวในการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัดรอดชีวิต ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่จะต้องถูกกล่าวถึงเสมอ คือ นักเคมีและจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นวัคซีนเป็นคนแรกเพื่อปกป้องชีวิตผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า “Louis Pasteur” นั่นเองค่ะ
โดยเริ่มจากการค้นพบว่า ในน้ำลายของสุนัขและน้ำลายของคนป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ รวมทั้งสมองทั้งของสัตว์และคนด้วย จึงได้เริ่มนำสมองกระต่ายมาเพาะเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลงหรือหมดฤทธิ์ แล้วฉีดให้แก่สุนัข และทดลองนำสุนัขบางตัวไปให้สุนัขบ้ากัด หรือบางตัวก็เอามาทดลองฉีดเชื้อเข้าสมองโดยตรง ปรากฏว่าสุนัขไม่ตาย จากผลงานครั้งนี้ทำให้ Pasteur ได้รับเกียรติอย่างสูงส่ง และได้นำเรื่องนี้ไปแสดง ณ ที่ประชุมวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
และจากจุดนี้เองทำให้ Pasteur คิดต่อไปว่า การที่จะหาวัคซีนมาฉีดให้สุนัขทุกตัวคงเป็นไปได้ยากเพราะคงไม่สามารถหาสมองกระต่ายที่มากมายขนาดนั้นได้ จึงคิดว่าถ้าฉีดให้เฉพาะคนที่ถูกสุนัขกัดก็คงจะเป็นการดีกว่าอย่างแน่นอน และนี่เองค่ะ คือจุดกำเนิดของการคิดค้นวัคซีนพิษสุนัขบ้าในคน จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนี้ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านั้นได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นค่ะ
วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (DT, Td) เป็นวัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (toxoid) หมายถึง วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยการนําพิษของเชื้อโรคมาทําให้หมดฤทธิ์ไป แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ใช้สําหรับโรคติดเชื้อที่เกิดจากพิษของเชื้อนั่นเองค่ะ
วัคซีนคอตีบและบาดทะยัก เริ่มมีการพัฒนาครั้งแรกในราวคริสต์ทศวรรษที่ 1920 และเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้วที่วัคซีนนี้ช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้มากมาย ปัจจุบันแนะนำให้ใช้ Td แทนวัคซีนบาดทะยักชนิดเดี่ยว (TT) เสมอในทุกกรณี เพราะจะได้มีภูมิต้านทานต่อโรคคอตีบร่วมด้วย เนื่องจากโรคคอตีบได้กลับมาระบาดใหม่ในระยะหลังโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ค่ะ และแนะนำให้ได้รับวัคซีน Td เข็มกระตุ้นทุกๆ 10 ปีอีกด้วย โดยการใช้ Td ฉีดแทน TT นั้น ก็ไม่ได้ทำให้มีผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนเพิ่มขึ้นและไม่ได้มีผลกระทบต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักค่ะ
โรคไข้สมองอักเสบเจอีเป็นโรคที่มีอัตราตายและความพิการตามมาสูง ส่วนใหญ่มักจะเป็นในเด็ก เชื้อก่อโรคได้แก่ไวรัส Japanese encephalitis (JE) ปัจจุบันโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (JEV) เริ่มมีการพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 ในประเทศรัสเซียและญี่ปุ่น วัคซีนรุ่นแรกได้แก่วัคซีนชนิดเชื้อตายที่เพาะเลี้ยงในสมองหนูต่อมาได้เพิ่มกระบวนการทําให้วัคซีนบริสุทธิ์ขึ้นเพื่อป้องกันผลแทรกซ้อนจากการปนเปื้อนของเนื้อเยื่อสมองหนู และได้รับการพัฒนาต่อเรื่อยมาจนกระทั่งมีใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ในอดีตโรคโปลิโอเป็นโรคที่มีผู้ป่วยมากกว่า 350,000 รายต่อปี และเป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่เด็กทั่วโลก เนื่องจากก่อให้เกิดความพิการ ขา หรือ แขนลีบ และเสียชีวิต โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ โดยเชื้อจะอาศัยอยู่ในลำไส้และจะถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย โรคโปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยผู้คิดค้นวัคซีนคือ Jonas Edward Salk เป็นผู้คิดค้นวัคซีนแบบวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดที่ทำจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว (kill vaccine) และ Albert Bruce Sabin คิดค้น วัคซีนโดยการรับประทานเป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ
โรคมือเท้าปากพบครั้งที่ประเทศนิวซิแลนด์ในปี ค.ศ. 1957 และพบเป็นโรคระบาดในปี 1960 จนได้รับการตั้งชื่อเป็นโรคมือเท้าปาก หรือ Hand Foot Mouth Disease โดยThomas Henry Flewett เชื้อก่อโรคจะเป็นกลุ่มเชื้อเอนเทอโทไวรัส ต่อมาในปี 1997-1998 ได้พบผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรง และเสียชีวิตจำนวนมากในประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน และ สิงคโปร์ ซึ่งส่วนใหญ่เชื้อก่อเหตุคือเชื้อเอนเทอโรไวรัส71 แต่ปัจจุบันการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส71 สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส71 ได้ขึ้นทะเบียนครั้งแรกที่ประเทศจีน และปัจจุบันในประเทศไทยเราก็มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส71 แล้ว